13 ปีแห่งการเดินทางของ โตโยต้า พรีอุส

ปี 1997 โตโยต้าทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักกับระบบขุมพลังรูปแบบใหม่อย่างไฮบริด ซึ่งสามารถผลิตและพัฒนาขึ้นมาเพื่อการใช้งานจริง โดยขายในเชิงพาณิชย์ผ่านทางรถยนต์สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่าพริอุส (Prius)

อีก13 ปีต่อมา รถยนต์รุ่นนี้ได้สร้างรากฐานและทำให้ระบบไฮบริดได้รับความสนใจจากลูกค้าทั่วโลก และรถยนต์พริอุสเองก็เพิ่งทำยอดการชสายสะสมทั่วโลกนับตั้งแต่เปิดตัวทะลุหลัก 2 ล้านคันไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
เจเนอเรชันที่ 1


จุดเริ่มต้นของการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้เกิดจากเอกสารของโตโยต้าที่ชื่อว่า Earth Charter ในปี 1992 ซึ่งทางแบรนด์ดังของญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายในการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีการขับเคลื่อนซึ่งมีมลพิษต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากนั้นแนวคิดนี้ทำให้เกิดโครงการ G21 ขึ้นมาซึ่งเริ่มทำงานในเดือนกันยายน 1993 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนารถยนต์เพื่อศตวรรษที่ 21 ซึ่งในปี 1994 รถยนต์ต้นแบบก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และนำออกโชว์ตัวเป็นครั้งแรกในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 1995

จากนั้นในปี 1996 โตโยต้ายืนยันการขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์รุ่นนี้อย่างชัดเจน ด้วยการนำออกแล่นทดสอบภายใต้สภาพการใช้งานจริงเพื่อเก็บข้อมูล และนั่นนำไปสู่การกำเนิดของพริอุสรุ่นแรกที่มาพร้อมรหัสตัวถัง NHW10 โดยถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคม 1997 และถือเป็นรถยนต์ไฮบริดที่ถูกผลิตในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก

อย่างไรก็ตาม พริอุสรุ่นแรกยังเป็นแค่ผลผลิตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับกับความต้องการของคนญี่ปุ่น และยังไม่มีการส่งขายในตลาดต่างแดนอย่างเป็นทางการ โดยชื่อของพริอุสมาจากคำในภาษาละตินที่มีความหมายเดียวกับคำว่า Prior และทางโตโยต้าวางระดับตลาดของพริอุสรุ่นแรกโดยแทรกกลางระหว่างรถยนต์ซับคอมแพกต์อย่างรุ่นเอ็คโค่ และกลุ่มคอมแพกต์อย่างโคโรลล่า

รุ่นแรกมากับตัวถังแบบ 4 ประตูที่มีขนาดกะทัดรัดด้วยความยาว 4,275 มิลลิเมตร กว้าง 1,694 มิลลิเมตร สูง 1,491 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮบริดรหัส 1NZ-FXE ที่มีเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 1500 ซีซี 58 แรงม้าเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน และเสริมแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 40 แรงม้าในการทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อน และชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่แบบนิเกิล เมทัลไฮดราย
จุดเด่นของระบบไฮบริด คือ เครื่องยนต์ถูกปรับให้มีความประหยัดน้ำมันมากขึ้นด้วยการใช้ระบบการเผาไหม้แบบ Atkinson Cycle และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาเสริมพลังกำลังขับเคลื่อนในช่วงรอบต่ำ เพื่อทดแทนข้อด้อยที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ซึ่งใช้ระบบการเผาไหม้แบบนี้ โดยนอกจากจะช่วยในการขับเคลื่อนแล้ว มอเตอร์ไฟฟ้ายังเปลี่ยนบทบาทมาเป็นตัวชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่เมื่อมีการเบรกหรือถอนคันเร่ง

อีกจุดเด่นสำคัญของระบบไฮบริดคือ เครื่องยนต์ที่สามารถดับเมื่อจอดเดินเบาอยู่กับที่ และกลับมาสตาร์ทอีกครั้งเมื่อถอนเบรกและกดคันเร่ง โดยการที่รถต้องจอดติดอยู่ท่ามกลางการจราจรถือเป็นการเปลืองน้ำมันแบบเปล่าประโยชน์ และยังปล่อยมลพิษออกมาอย่างมาก ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกผู้ผลิตรถยนต์หลายรายนำไปประยุกต์เป็นระบบที่เรียกว่า Auto Stop&Start เพื่อใช้กับรถยนต์ธรรมดาอีกด้วย

แม้ในตลาดญี่ปุ่น โตโยต้าจะเป็นผู้บุกเบิกตลาด แต่สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกากลับไม่ใช่ เพราะโตโยต้าส่งพริอุสรุ่นปรับโฉมที่ถูกเปลี่ยนมาใช้รหัส NHW11 เข้าทำตลาดช้ากว่าที่ฮอนด้าส่งอินไซท์รุ่นแรกเข้ามาทำตลาดร่วมปี โดยพริอุสรุ่นนี้เปิดตัวในเมืองลุงแซมเมื่อปี 2000 และมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทั้งรูปลักษณ์และรายละเอียดทางเทคนิค

นอกจากตัวถังที่ถูกเพิ่มความยาวขึ้นมาเป็น 4,308 มิลลิเมตร สมรรถนะของระบบไฮบริด THS-Toyota Hybrid System ยังได้รับการปรับปรุงอีกด้วย โดยเครื่องยนต์ 1500 ซีซีซึ่งมีเรี่ยวแรงขยับขึ้นมาเป็น 70 แรงม้า ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.3 กก.-ม. ที่ 4,200 รอบ/นาที เช่นเดียวกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ขยับขนาดขึ้นมาเป็น 44 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 35.6 กก.-ม. และได้รับการรับรองโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ CARB-California Air Resources Board ให้จัดอยู่ในระดับรถยนต์มลพิษต่ำในกลุ่ม ULEV หรือ Ultra Low Emission Vehicle
เจเนอเรชันที่ 2


สำหรับยุโรปก็ทำตลาดในปีเดียวกับสหรัฐอเมริกาแต่เป็นช่วงเดือนกันยายน และในปี 2002 โตโยต้า อังกฤษได้นำพริอุสมาดัดแปลงเป็นรถแข่งแรลลี่แบบไฮบริดคันแรกของโลก เพื่อเข้าร่วมรายการ Midnight Sun to Red Sea Rally เมื่อเดือนมิถุนายน 2002 ซึ่งมีระยะทาง 5,000 ไมล์ หรือ 8,000 กิโลเมตร เดินทางจากสวีเดนมายังประเทศจอร์แดน ก่อนจบการแข่งขันในอันดับที่ 14

ปี 2003 ถึงเวลาของการเปลี่ยนโฉมหรือโมเดลเชนจ์ ซึ่งโตโยต้าเปิดตัว NWH20 หรือพริอุสรุ่นที่ 2 ออกมาในตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เพราะว่าในเมืองลุงแซม ชื่อของพริอุสเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะรถยนต์ที่มีทั้งความประหยัดน้ำมันและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากเทคโนโลยีไฮบริดที่ได้รับการปรับปรุงใหม่แล้ว ในเรื่องของตำแหน่งทางการตลาดของพริอุสก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะแต่เดิมแทรกกลางระหว่างตลาด B กับ C-Segment คราวนี้ถูกอัปขนาดตัวถัง พร้อมกับเปลี่ยนมาเป็นแบบแฮทช์แบ็ก 5 ประตูและสมรรถนะของระบบก็เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาขยับขึ้นมาแทรกกลางระหว่างโคโรลล่า และคัมรี่ หรือ C กับ D-Segment

รุ่นนี้มีการนำระบบคอมเพรสเซอร์แอร์แบบไฟฟ้ามาใช้เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกับพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่แบบนิเกิลเมทัลไฮดรายก็มีขนาดเล็กลงแต่สมรรถนะดีขึ้น เช่นเดียวกับอายุการใช้งานที่โตโยต้ากล้ารับประกันถึง 160,000 กิโลเมตรหรือ 8 ปี

พริอุส รุ่นที่ 2 ยังใช้เครื่องยนต์ไฮบริดรหัส 1NZ-FXE ที่มีขุมพลังเบนซินแบบ 4 สูบ 1500 ซีซีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่ก็ขยับกำลังขึ้นมาเป็น 76 แรงม้า ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.7 กก.-ม. ที่ 4,300 รอบ/นาที และมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 67 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 40.7 กก.-ม. ซึ่งระบบโดยรวมสามารถผลิตกำลังออกมาได้ 110 แรงม้า
จากการปรับปรุงในทุกส่วนรวมถึงการคายก๊าซพิษในไอเสียลดลง ทำให้พริอุสเจเนอเรชันที่ 2 ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่ม SULEV หรือ Super Ultra Low Emission Vehicle ของทาง CARB และจากการที่มีโหมด EV ซึ่งสามารถแล่นด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าในช่วงสั้นๆ โดยอาศัยกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ทำให้พริอุสรุ่นนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นรถยนต์แบบ AT-PZEV หรือ Advanced Technology Partial Zero Emission Vehicle

นอกจากนั้นยังถือเป็นความสำเร็จอย่างมากบนเวทีแจกรางวัล เมื่อพริอุสรุ่นนี้ได้รับเลือกให้เป็นรถยนต์ยอดเยี่ยมของยุโรปในปี 2005 โดยมีคะแนนทิ้งห่างทั้งฟอร์ด โฟกัส และซีตรอง ซี4 อีกทั้งยังเป็นรถยนต์ของโตโยต้ารุ่นที่ 2 ที่ได้รับเลือกให้คว้ารางวัลนี้ต่อจากยาริสรุ่นแรกที่ทำได้ในปี 2000

ในเรื่องของการผลิต ในรุ่นนี้เป็นครั้งแรกที่โตโยต้าขยายไลน์ผลิตของตัวเองออกจากญี่ปุ่น โดยมาตั้งโรงงานอยู่ที่เมือง Changchun ประเทศจีนในปี 2005 เพื่อผลิตขายและรองรับกับความต้องการของลูกค้าชาวจีน

อีกทั้งพริอุสรุ่นนี้ยังได้รับความนิยมอย่างมากจากดาราในฮอลีวูดโดยมีลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และคาเมรอน ดิแอซเป็นผู้สร้างกระแส และช่วยทำให้รถยนต์รุ่นนี้ รวมถึงรถยนต์ไฮบริดรุ่นอื่นๆ ของโตโยต้าได้รับความสนใจอย่างเป็นวงกว้าง
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน