ญี่ปุ่นหนุน"ยานยนต์ไฮโดรเจน"

แฟ้มภาพต้นแบบรถยนต์เซลล์ล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนของโตโยต้า ซึ่งมีกำหนดวางจำหน่ายในปี 2015


3 ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่แดนอาทิตย์อุทัยทั้งโตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน ประกาศตัวเป็นแกนนำร่วมกับนานาบริษัทด้านพลังงานในญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้เกิดการทำตลาด"รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน"ในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายสถานีเติมเชื้อเพลิงให้ครอบคลุมทั่วเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นภายในปี 2015

ผู้ร่วมโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฮโดรเจนในครั้งนี้ประกอบด้วย โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบกิจการพลังงานทั้งตัวแทนจำหน่ายและผู้สกัดก๊าซธรรมชาติในญี่ปุ่นมากกว่า 10 ราย โดยทั้งหมดตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงได้มากกว่า 100 จุดในอีก 4 ปีข้างหน้า ในพื้นที่เมืองโตเกียว นาโกยา โอซากา และฟูกูโอกะ

ที่ผ่านมา ค่ายรถหลายเจ้าได้ประกาศนโยบายพัฒนายานยนต์เซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel Cell Vehicles (FCVs) ยุคใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว บนความหวังในการลดมลพิษทางอากาศเพราะการเปลี่ยนไฮโดรเจนมาเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่การร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายให้บริการเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นคือขั้นตอนสำคัญของการทำให้ยานยนต์ไฮโดรเจนสามารถแจ้งเกิดในตลาดได้จริง เพราะความร่วมมือจากกลุ่มผู้ผลิตพลังงานนั้นมีส่วนทำให้ต้นทุนการผลิตระบบสนับสนุนของค่ายรถลดลงด้วย

ไม่มีข้อมูลว่าผู้ร่วมโครงการนี้วางแผนลงทุนในโครงการเป็นเงินกี่ร้อยล้านเยน แต่ทั้งหมดเชื่อว่าความต้องการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการขนส่งของญี่ปุ่น จะทำให้ค่ายรถและอุตสาหกรรมพลังงานร่วมมือกันเพื่อขยายจุดให้บริการไฮโดรเจนแก่รถยนต์พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ยานยนต์ไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในรถยนต์พลังงานสะอาดที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในวงกว้าง แม้รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Nissan Leaf หรือรถยนต์ลูกผสมไฟฟ้าและน้ำมันอย่าง Toyota Prius จะกลายเป็นกระแสในตลาดมาแล้วระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดเรื่องการผลิตที่มีต้นทุนแสนแพง รวมถึงการขาดแคลนเครือข่ายจุดให้บริการพลังงาน ทั้งหมดล้วนเป็นอุปสรรคที่ส่งให้ยานยนต์ไฮโดรเจนไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

โตโยต้าเคยประกาศว่าจะเปิดตัวรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงภายในปี 2015 โดยมีแผนพัฒนารถยนต์ลูกผสมระหว่างน้ำมันและเซลล์เชื้อเพลิงเช่นกัน

สำหรับฮอนด้านั้นเริ่มเปิดตัวรถยนต์รุ่น 200 FCX Clarity ซึ่งใช้พลังงานจากไฮโดรเจนมาแล้วตั้งแต่ปี 2008 โดยเปิดเช่าแก่ลูกค้าในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปบางประเทศ
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน